COLUMNIST

คน กทม. ผลิตขยะได้มากพอสำหรับผลิตไฟฟ้า 250 เมกะวัตต์
POSTED ON -


 

ไฟฟ้า 250 เมกะวัตต์ มากน้อยเพียงใด? เพื่อให้ท่านมองภาพรวมของพลังงานจากขยะกรุงเทพมหานครได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ขอยกตัวอย่างจังหวัดที่ใช้ไฟฟ้าใกล้เคียงกับขยะที่ กทม. ผลิตได้ ซึ่งได้แก่ ลำปาง พิษณุโลก ปราจีนบุรี ชัยภูมิ ประจวบคีรีขันธ์ และกระบี่ เป็นต้น แล้วทำไม กทม. จึงไม่นำขยะทั้งหมดมาผลิตไฟฟ้า แล้วตอนนี้ขยะทั้งหมดของ กทม. กว่า 10,000 ตัน ไปอยู่ที่ไหน? และอยู่กับใคร?

 

จากการเสวนา “หนทางแก้วิกฤต มลพิษใน กทม.” ที่จัดโดยนักบริหารมหานครระดับสูง รุ่นที่ 10 ซึ่งเป็นหลักสูตรอบรมผู้บริหารแบบเข้มข้นของกรุงเทพมหานคร เรียนทุกวันเหมือนนักศึกษาในมหาวิทยาลัย โดยมีหน่วยงานราชการที่ไม่สังกัด กทม. ร่วมอบรมด้วยจำนวนหนึ่งนั้น ในการเสวนาได้มีการหยิบยกมลพิษในกรุงเทพมหานครมาพูดคุย แต่เรื่องที่ได้รับความสนใจเป็นพิเศษก็คือ ปัญหาขยะในมหานครใหญ่ระดับโลกที่ได้รับการโหวตจากทั่วโลกว่าน่าท่องเที่ยวที่สุดแห่งหนึ่ง แล้วมหานครแห่งนี้แก้ไขปัญหาขยะกันอย่างไร? อะไรอยู่ใต้พรม? อะไรอยู่บนโต๊ะ?

 

ก่อนอื่นต้องขอชมการทำงานด้านขยะของ กทม. ว่า ที่ผ่านมาไม่ค่อยมีปัญหาให้ประชาชนเดือดร้อน และมีการคัดแยกเบื้องต้นจากการเก็บขนขยะมูลฝอยได้ดี จนมีผู้ที่อยู่ใน Value Chain นี้นับพันนับหมื่นครอบครัว สร้างรายได้ให้ผู้มีรายได้น้อยให้มีกินมีใช้

 

ด้วยปริมาณขยะกว่า 10,000 ตันต่อวัน จากประชากรชาว กทม. รวมทั้งประชากรแฝงและประชากรจรแล้วไม่น้อยกว่า 10 ล้านคนที่อาศัยอยู่ใน กทม. ซึ่งคาดว่าปัจจุบันมีขยะทั้งสิ้น 10,000-12,000 ตันต่อวัน สูงต่ำตามฤดูกาลและภาวะเศรษฐกิจ ทั้งนี้ กทม. ได้ว่าจ้างบริษัทเอกชนประมาณ 4 บริษัท ให้นำขยะไปกำจัด รายละเอียดในสัญญาเป็นอย่างไรยังเข้าไม่ถึงข้อมูล ทราบเพียงแค่ว่าใช้งบประมาณจากภาษีของพวกเราปีละ 8,000 ล้านบาท และก็ฝังกลบอยู่ให้เห็น 2 แห่งคือ นครปฐม และฉะเชิงเทรา ซึ่งบ่อฝังกลบของ กทม. โดยบริษัทเอกชนทั้ง 2 แห่งนี้ถือว่าดีที่สุดในอาเซียน (สิงคโปร์ ไม่มีบ่อฝังกลบ)

 

แล้วทำไม กทม. ยังเอาแต่ฝังกลบ? ไม่รู้จักคำว่า “พลังงานขยะ” หรืออย่างไร? ยังไม่มีผู้บริหารท่านใดตอบอย่างเป็นทางการ อาจจะเป็นนโยบายของผู้บริหารก็ได้ แต่ข่าวอย่างไม่เป็นทางการกระซิบว่า เคยคิดจะทำพลังงานจากขยะเหมือนกัน แต่ติดที่ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ หรือชื่อเต็มๆ ว่า "พระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556" ซึ่งทางสํานักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เป็นผู้ดูแล พ.ร.บ.นี้อยู่ โดย สคร.พยายามให้การจัดการขยะทุกรูปแบบเข้า พ.ร.บ.นี้ ถนนสาย สคร.นี้ยาวนัก อาจใช้เวลานานนับปี หรือมากกว่านั้น ด้วยเหตุนี้ กทม. และบริษัทเอกชนที่ได้รับว่าจ้างให้จัดการขยะก็เลยตั้งตาคอยว่านโยบายขยะที่เป็นวาระแห่งชาติจะลงเอยที่ตรงไหน?

 

นักวิพากษ์วิจารณ์บอกว่า อาจเป็นเพราะภาครัฐบังเอิญไปคาดการณ์ผลประโยชน์เอาเองว่า ขยะวันละ 12,000 ตัน ถ้าใครทำให้เกิดผลประโยชน์เพียงตันละ 100 บาท ก็เท่ากับวันละ 1,200,000 บาท ปีละเท่าไหร่อย่าไปคำนวณให้ไม่สบายใจเลย ไหนๆ ก็จ่ายค่ากำจัดขยะไปแล้วกว่าปีละ 8,000 ล้านบาท  สคร.ก็เลยเห็นว่าน่าจะเข้าข่าย พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ

 

คราวนี้หันมามองแผนธุรกิจของฝ่ายที่เห็นว่าน่าจะนำขยะ 12,000 ตันต่อวันของ กทม. มาผลิตไฟฟ้า โดยเอกชนลงทุนให้ทั้งหมด 100% แต่ กทม. ต้องขนขยะมาให้ที่หน้าโรงงาน ซึ่งขยะทั้งหมดจะได้รับการคัดแยกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ (1) ขยะอินทรีย์ ประมาณ 45% จะนำไปผลิต Biogas เพื่อผลิตไฟฟ้า และ (2) ส่วนที่เป็นขยะแห้งจะมีการแยก Inert waste ประเภทแก้ว หิน ดิน ทราย ไปฝังกลบ หรือปูพื้นถนน ส่วนที่เป็นโลหะต่างๆ ก็นำไปขาย และส่วนที่ติดไฟได้ดีอีกราว 40% จะนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงคุณภาพดีที่เราเรียกว่า RDF (Refuse Derived Fuel) มีค่าคลอไรด์ไม่เกิน 1% ความชื้นไม่เกิน 30% ค่าความร้อน 3,500-4,000 kal/kg โดยปกติ RDF คุณภาพดีก็มีราคาค่างวดตั้งแต่ตันละ 500-1,500 บาท ตามประกาศราคารับซื้อของกลุ่มอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ที่รับซื้อไม่จำกัดจำนวน

 

เมื่อนำปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตจากขยะ กทม. มาคำนวณดู ผู้ลงทุนจะมีรายได้จากการจำหน่ายให้การไฟฟ้าฯปีละไม่น้อยกว่า 45 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ ตลอดระยะเวลาสัญญา 20 ปี และหากว่าขยะ กทม. สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 250 เมกะวัตต์ คูณด้วย 45 ล้านบาทแล้ว ก็จะมีรายได้เท่ากับ 11,250 ล้านบาทต่อปี อย่าไปคูณด้วย 20 ปีเลย เดี๋ยวจะมีหน่วยงานรัฐบางแห่งไม่สบายใจ ก็พลอยทำให้ Waste To Energy ของ กทม. แท้งก่อนเกิด

 

ไม่มีอะไรที่ได้มาเปล่าๆ” คํากล่าวนี้อมตะที่สุด

 

ภาคเอกชนลงทุนกับธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูงอย่างการจัดการขยะ ช่วยรับความเสี่ยงแทน กทม. ผู้มีอำนาจและผู้ที่เกี่ยวข้องช่วยกันปรับ Mind Set แล้วขับเคลื่อนพลังงานขยะ 250 เมกะวัตต์ของ กทม. กันเถิด อย่าไปสนใจว่าใครจะได้อะไร ขอเพียงแต่อย่าเอาขยะไปเผาสดๆ โดยไม่คัดแยกจะมีแต่เสียกับเสีย (1) สูญเสียทรัพยากรที่ยังมีประโยชน์ในขยะ (2) ผลิตไฟฟ้าได้น้อย และ (3) ควบคุมสารประกอบซึ่งก่อมะเร็ง (ไดออกซิน) ได้ยาก

 

วันนี้คุณช่วยกันคัดแยกขยะที่บ้านหรือยัง

 

Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing